บาสเกตบอล

http://konbabar.siam2web.com/

 

  เทคนิคพื้นฐาน

 

  

ตำแหน่งผู้เล่นและโครงสร้าง

  

         ถึงแม้ว่าในกฎจะไม่กำหนดตำแหน่งใด ๆ ของผู้เล่น แต่เรื่องนี้มีวิวัฒนาการจนเป็นส่วนหนึ่งของบาสเกตบอล ในช่วงห้าสิบปีแรกของเกม จะใช้ การ์ดสองคน ฟอร์เวิร์ดสองคน และเซ็นเตอร์หนึ่งคนในการเล่น ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา มีการแบ่งชัดเจนขึ้นเป็น พอยท์การ์ด (หรือการ์ดจ่าย) ชู้ตติ้งการ์ด สมอลฟอร์เวิร์ด เพาเวอร์ฟอร์เวิร์ด และ เซ็นเตอร์ ในบางครั้งทีมอาจเลือกใช้ การ์ดสามคน แทนฟอร์เวิร์ดหรือเซ็ตเตอร์คนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า three guard offense

          การเล่นตั้งรับ มีหลักการแตกต่างกันสองรูปแบบ คือ ตั้งรับแบบโซน (zone defense) และ แบบแมน-ทู-แมน (man-to-man defense) การตั้งรับแบบโซน ผู้เล่นจะยืนคุมผู้เล่นฝ่ายบุกที่อยู่ในโซนที่ตัวเองรับผิดชอบ ส่วนแบบ แมน-ทู-แมน นั้น ผู้เล่นฝ่ายรับแต่ละคนจะยืนคุมและป้องกันผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามที่โค้ชวางแผนการเล่นเอาไว้

          ส่วนการเล่นบุกทำคะแนนมีหลากหลายกว่า เกี่ยวข้องกับแผนการส่งลูก และการเคลื่อนไหวของผู้เล่นที่ไม่ถือลูก การคัท (cut) หรือวิ่งตัด คือการที่ผู้เล่นที่ไม่มีลูกวิ่งอย่างรวดเร็วไปยังตำแหน่งที่ได้เปรียบ การสกรีน (screen) หรือ พิก (pick) คือการที่ผู้เล่นฝ่ายบุกยืนขวางทางผู้เล่นฝ่ายรับที่ประกบเพื่อนร่วมทีมในขณะที่เพื่อนร่วมทีมนั้นวิ่งตัดข้างๆ เขา การเล่นสองแบบนี้สามารถรวมเข้าเป็นพิกแอนด์โรล (pick and roll) โดยที่ผู้เล่นคนแรกทำพิกจากนั้นก็หมุนตัววิ่งเข้าหาห่วง (ซึ่งเรียกว่าโรล) สกรีน และ คัท เป็นส่วนสำคัญของการเล่น ทำให้ส่งลูกและทำคะแนนได้สำเร็จ ทีมมักมีแผนการเล่นที่หลากหลายเพื่อให้อีกฝ่ายไม่สามารถคาดเดาการเล่นได้ ในสนามผู้เล่นตำแหน่งพอยท์การ์ดมักมีหน้าที่บอกแผนการเล่นที่จะใช้ให้กับเพื่อนร่วมทีม

           โครงสร้างของการตั้งรับ การบุก และตำแหน่งการเล่น ถูกเน้นในการเล่นบาสเกตบอลระดับสูง และเป็นสิ่งที่โค้ชจะขอเวลานอกเพื่อคุยกับลูกทีม

  

การชู้ต

 

 

           การชู้ตเพื่อทำคะแนนนั้น วิธีการจะแตกต่างกันไปขึ้นกับผู้เล่นและสถานการณ์ ที่จะอธิบายต่อไปนี้เป็นเทคนิกพื้นฐานที่ใช้มากที่สุด

           ผู้เล่นเอาลูกไปพักบนปลายนิ้วมือข้างที่ถนัด ให้อยู่สูงกว่าศีรษะเล็กน้อย ส่วนมืออีกข้างประคองด้านข้างลูก จากนั้นก็ยืดแขนข้างที่พักลูกให้เหยียดตรงให้ลูกลอยออกจากปลายนิ้วในขณะที่บิดข้อมือลง ปกติมืออีกข้างประคองลูกเพื่อควบคุมทิศการชู้ตเท่านั้น ไม่มีส่วนในการให้แรงส่ง

           ผู้เล่นมักชู้ตลูกให้ลูกหมุนแบบแบ็คสปิน (backspin) กล่าวคือหมุนย้อนไปข้างหลังขณะที่ลูกเคลื่อนที่ไปยังห่วง ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกกระดอนออกจากห่วงหลังจากการกระทบ ผู้เล่นส่วนมากชู้ตไปยังห่วงตรง ๆ แต่ในบางครั้งผู้ชู้ตอาจต้องชู้ตให้กระดอนกับแป้นแทน

            วิธีการชู้ตที่ใช้บ่อยสุด ได้แก่ เซ็ตช็อต (set shot) และ จัมพ์ช็อต (jump shot) เซ็ตช็อตคือการชู้ตขณะที่ทั้งสองเท้ายังอยู่ติดพื้น ใช้ในการชู้ตฟรีโทรว์ ส่วนจัมพ์ช็อต คือการชู้ตขณะที่กำลังกระโดดโดยปล่อยลูกขณะที่ตัวอยู่ตำแหน่งลอยตัวสูงสุด การชู้ตวิธีนี้ให้กำลังมากกว่าและชู้ตได้ไกล อีกทั้งสามารถกระโดดลอยตัวเหนือผู้เล่นที่ยืนตั้งรับได้ด้วย

            ผู้เล่นที่ชู้ตเก่งนอกจากจะมีสัมผัส การทรงตัว ความกล้า และการฝึกฝนที่ดีแล้ว ยังต้องรู้จักเลือกโอกาสการชู้ตอีกด้วย ผู้เล่นระดับแนวหน้ามักชู้ตไม่พลาดเมื่อไม่มีผู้เล่นอื่นมาประกบ

เทคนิคพื้นฐาน

  

การส่งบอล

             ในการส่งบอล (pass) ระหว่างผู้เล่น ผู้ส่งมักส่งในจังหวะที่ก้าวไปข้างหน้าเพื่อเพิ่มกำลังส่ง และอาศัยมือประคองในจังหวะที่ปล่อยลูกเพื่อช่วยเรื่องความแม่นยำ

             การส่งพื้นฐานสุดแบบหนึ่งคือการส่งระดับอก (chest pass) โดยส่งโดยตรงจากอกของผู้ส่งลูกไปยังผู้รับลูก เป็นการส่งที่รวดเร็วที่สุด

             การส่งอีกแบบคือแบบ bounce pass ผู้ส่งจะส่งจากระดับอก ให้ลูกบอลกระเด้งกับพื้นที่ระยะประมาณสองในสามจากผู้ส่ง ซึ่งลูกจะกระเด้งเข้าระดับอกของผู้รับพอดี มีประโยชน์เวลาที่มีผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามยืนอยู่ในจุดซึ่งอาจแย่งลูกได้หากส่งลูกธรรมดา

             การส่งแบบข้ามหัว (overhead pass) สำหรับส่งข้ามผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม โดยจะส่งข้ามศีรษะของผู้ส่ง เล็งไปที่ระดับคางของผู้รับ

             การส่งไม่จำเป็นต้องใช้กรณีที่ผู้เล่นอยู่ไกลกัน แต่อาจจะเป็นการยื่นลูกให้ผู้เล่นคนที่อยู่ข้าง ๆ ซึ่งกำลังเคลื่อนที่เข้าไปยังห่วงเพื่อทำคะแนนเป็นต้น

             จุดสำคัญของการส่งลูกก็คือ จะต้องไม่ให้อีกฝ่ายแย่งหรือขโมยลูกไปได้ ด้วยเหตุนี้การส่งข้ามสนามไกล ๆ ที่เรียกว่าการส่งสกิป (skip pass) ถึงใช้กับแค่บางสถานการณ์เท่านั้น

  

การเลี้ยงลูก
   
 
 

             การเลี้ยงลูกเป็นบังคับให้ลูกกระเด้งกับพื้นตลอดเวลา ผู้เล่นไม่ใช้มือตบลูกแต่จะใช้มือดันลูกไปหาพื้นแทนเนื่องจากควบคุมลูกได้ดีกว่า

             เมื่อต้องเลี้ยงลูกผ่านคู่ต่อสู้ ผู้เลี้ยงลูกควรเลี้ยงให้ลูกอยู่ห่างจากผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามมากสุด ดังนั้นผู้เล่นจำเป็นต้องเลี้ยงลูกได้ทั้งสองมือ ด้วยการสลับมือเลี้ยงลูกผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามก็เอื้อมมือถึงลูกได้ยากขึ้น และระหว่างที่สลับมือจะต้องเลี้ยงลูกให้ต่ำลงป้องกันการขโมยลูก ผู้เล่นอาจเปลี่ยนมือโดยเลี้ยงลูกลอดระหว่างขาหรือไขว้หลังก็ได้

             ผู้เล่นที่ชำนาญสามารถเลี้ยงลูกได้โดยไม่ต้องมองลูก ซึ่งช่วยให้มองหาเพื่อนร่วมทีมหรือโอกาสการทำแต้ม และป้องกันการขโมยลูกจากผู้เล่นที่ยืนอยู่รอบ ๆ ได้

 

 

ความสูงของผู้เล่น

              ส่วนสูงของนักกีฬาถือเป็นข้อได้เปรียบในกีฬาบาสเกตบอล ในระดับอาชีพนักกีฬาชายส่วนใหญ่สูงเกิน 1.91 เมตร (6 ฟุต 3 นิ้ว) ส่วนนักกีฬาหญิงมักสูงเกิน 1.67 เมตร (5 ฟุต 6 นิ้ว)ผู้เล่นตำแหน่งการ์ดซึ่งใช้ทักษะการครองบอลเป็นสำคัญ มักจะเป็นผู้เล่นที่ตัวเล็กที่สุด แต่บางครั้งก็อาจสูงมากเช่นกัน ผู้เล่นตำแหน่งฟอร์เวิร์ดในระดับอาชีพของชายมักสูงถึง 2.1 เมตร (6 ฟุต 8 นิ้ว)หรือมากกว่านั้น เซ็นเตอร์มักสูงเกิน 2.16 เมตร (7 ฟุต 1 นิ้ว) ผู้เล่นที่สูงที่สุดเท่าที่เคยเล่นในเอ็นบีเอ ได้แก่ มานูต โบล (Manute Bol) และ จอร์จ มูเรซาน (Gheorghe Muresan) ซึ่งสูง 2.31 เมตร (7 ฟุต 7 นิ้ว) ปัจจุบันผู้เล่นที่สูงที่สุดในเอ็นบีเอคือ เหยา หมิง สูง 2.29 เมตร (7 ฟุต 6 นิ้ว)

               ผู้เล่นที่ตัวเตี้ยที่สุดที่เคยเล่นในเอ็นบีเอคือ มักซี โบกส์ (Muggsy Bogues) ซึ่งสูง 1.60 เมตร (5 ฟุต 3 นิ้ว) ผู้เล่นตัวไม่สูงบางคนประสบความสำเร็จในการเล่นอาชีพ ตัวอย่างเช่น แอนโทนี เว็บบ์ หรือชื่อเล่น สปัด เว็บบ์ (Anthony "Spud" Webb) ซึ่งสูงเพียง 5 ฟุต 7 นิ้ว (1.7 เมตร) แต่สามารถกระโดดสูงถึง 42 นิ้ว (1.07 เมตร) ทำให้ดูสูงเมื่อกระโดด

 

 

 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 17,443 Today: 2 PageView/Month: 53

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...